สคช. เปิดเวทีสัมมนาออนไลน์ “อาชีพต้องเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ รับ New Normal” 

นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) นำทัพคณะผู้บริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมเวทีสัมมนา Virtual Conference หัวข้อ “อาชีพต้องเปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับ รับ New Normal” ในงานพัฒนาองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพเข้าสู่มาตรฐานสากล (ISO/IEC 17024) ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์ Zoom Meeting และ Facebook live โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นางสาววรชนาธิป จันทนูและนางสาวจุลลดา มีจุล รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมแชร์มุมมองและแนวทางการปรับตัวในอาชีพ และยกระดับความรู้ ความเข้าใจ สร้างโอกาส สร้างงานและสร้างอาชีพ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก 

นายนคร กล่าวถึงกลไกในการพัฒนากำลังคน ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพว่า มีการปรับปรุงหลักสูตรและแนวทางการฝึกอบรม ที่รองรับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างโอกาสในการ Reskill - Upskill ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการรับรองคนซึ่งต้องปรับตัวตามยุค new normal 

ดร.นพดล ผู้อำนวยการสถาบันฯ ย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่จะส่งผลต่อการแข่งขันและการทำงานหลังจากนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เทรนด์อาชีพอนาคตจะมีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce , E-Learning หรือ E-Sport จะเข้ามามีบทบาทในทุกอาชีพไม่มากก็น้อย รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการสุขภาพ ก็จะเติบโตอย่างรวดเร็ว สถาบันฯ จึงได้เตรียมพร้อมจัดทำมาตรฐานอาชีพ และทำความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พร้อมสนับสนุนปูทางให้ทุกอาชีพสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่นบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ให้พร้อมปรับตัว นำไปสู่การแข่งขันในระดับสากลได้อย่างมีมาตรฐาน

นางสาววรชนาธิป รองผู้อำนวยการสถาบันฯ ยืนยันถึงการทำงานของ สคช. ว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่หยุดต่อสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น สถาบันฯ ได้มีการปรับรูปแบบการสนับสนุนผู้ที่อยู่ในอาชีพ ด้วยการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ TPQI E-Training และเฟซบุ๊ก รวมถึงการอบรมในรูปแบบ Virtual Classroom ในสาขาอาชีพที่สามารถดำเนินการได้เลย นอกจากนี้ยังมีการประเมินแบบออนไลน์ และการประเมินแบบเทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัล ที่ สคช. พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มและพัฒนาทักษะให้กับคนในอาชีพได้อย่างเข้าถึงมากขึ้น

นางสาวจุลลดา บอกถึงความร่วมมือกับองค์กรระดับประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของ สคช. ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ที่มีการจัดทำความร่วมมือกันในการพัฒนามาตรฐานอาชีพในหลายอาชีพ เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าสามารถพัฒนากำลังคนไม่ใช่เพียงระดับประเทศ ระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่เป็นการเทียบเคียงความสามารถของคนในระดับสากลด้วย 

ทั้งนี้ในงานยังได้มีการมอบรางวัลให้กับองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ โรงเรียนเสริมสวยชลาชล ในฐานะเป็นองค์กรต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพ ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17024 ประจำปี 2564 ซึ่งดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐาน เข้มแข็ง มีสมรรถนะบุคคล ทัดเทียมกับนานาประเทศ