สคช. - สทป. ลงนามความร่วมมือ พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ พร้อมเชื่อมโยงการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านวัตกรรมดิจิทัล
31 มกราคม 2567 ณ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. จับมือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยมี นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ พล.อ.ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ จรดปากกาลงนาม ท่ามกลางสักขีพยาน นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงษ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายพีรพงศ์ โพธิ์เหมือน รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย
นางสาวจุลลดา ระบุว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งให้เพื่อเกิดขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมดิจิทัล และเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ด้วยการใช้งานระบบแฟ้มสะสมงานอิเล็กทรอนิกส์ (E-Portfolio) และการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคนและการพัฒนาสมรรถนะเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยผ่าน E-Workforce Ecosystem Platform (EWE) ซึ่งจะรองรับผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านคน เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำไปวิเคราะห์แนวทางการพัฒนากำลังคนที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายได้ นอกจากนี้ยังนำไปสู่การใช้นวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ โดยนำระบบการเรียนรู้ สมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพอิเล็กทรอนิกส์ (E-Training) เพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ รวมถึงสร้างการรับรู้และยอมรับในคุณวุฒิวิชาชีพ
พล.อ.ชูชาติ กล่าวว่า สทป. ในฐานะหน่วยงานที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ตลอดจนพัฒนายุทโธปกรณ์ต้นแบบตามความต้องการของเหล่าทัพ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และสนับสนุนการฝึกอบรม ค้นคว้าวิจัยและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาตามอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (S-Curve) ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมด้านความมั่นคงอยู่ด้วย ทั้งนี้ การเติบโตทางเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย จะสามารถขยายตัวและเติบโตได้นั้น ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และมีการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ซึ่งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรก ที่จะนำไปสู่การพัฒนาพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ทั้งระบบ E-Training และแพลตฟอร์ม EWE ที่เป็นประโยชน์และมีการทำงานสอดคล้องกันทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศต่อไป