การรักษาความปลอดภัยถือเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญสาขาหนึ่ง และอยู่คู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน และด้วยสภาพทางสังคมที่มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม องค์กรเอกชนจึงมีเข้าบทบาท ในการดูแลรักษาความปลอดภัย คุ้มครองทรัพย์สิน ให้กับภาคธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน ไม่เว้นแต่หน่วยงานของรัฐ ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมและมิจฉาชีพที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบที่พัฒนาแตกต่างกันออกไป จึงยิ่งทำให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยมีการแข่งขันทางการตลาดที่สูง ตามอัตราการขยายตัวของความต้องการทั้งจากลูกค้าภาครัฐ และภาคเอกชน โดยมีมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล (หลักหมื่นล้านบาท) และมีแรงงานหมุนเวียนที่อยู่ในธุรกิจจำนวนมาก (หลักแสนคน) รวมไปถึงความคาดหวังจากการให้บริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่จะเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
โดยธุรกิจรักษาความปลอดภัยเป็นการให้บริการรักษาความปลอดภัยให้แก่ อาคารสถานที่ ทรัพย์สิน และชีวิต ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ผู้ว่าจ้าง อาทิเช่น บริษัท ห้างร้าน สำนักงาน ที่พักอาศัย ธนาคาร โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ขนส่ง ท่าเรือ และท่าอากาศยาน ทั้งของภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการให้บริการรักษาความปลอดภัยจะดำเนินการจัดส่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปให้บริการยังสถานที่ของผู้ว่าจ้าง โดยขอบเขตของการให้บริการรักษาความปลอดภัย จำนวนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และระยะเวลาการให้บริการ จะขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างผู้ให้บริการและผู้ว่าจ้าง
งานรักษาความปลอดภัยในประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ตามรูปแบบของลักษณะงาน คือ
- งานรักษาความปลอดภัยอาคารและสถานที่
- งานรักษาความปลอดภัยด้านการอำนวยความสะดวกและการจราจร
- งานรักษาความปลอดภัยบุคคล
- งานรักษาความปลอดภัยขนส่งทรัพย์สินและเอกสาร
- งานรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลข่าวสาร

 

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพธุรกิจรักษาความปลอดภัย

http://tpqi-net.tpqi.go.th/home/occ/industrialInfo/SEC