ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวสารและกิจกรรม

มี.ค.

ผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพรุ่นแรก 1,300 คน

24.03.2568
646 View
ผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพรุ่นแรก 1,300 คน
ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร เข้าร่วมในพิธีปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตรให้กับบุคลากรที่ผ่านการอบรมในโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย หลักสูตร THACCA OFOS รุ่นแรก 1,300 คน โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, คณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร, ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารภาคีเครือข่ายเข้าร่วม
โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมขับเคลื่อนหลักสูตรการอบรมพัฒนาและเสริมทักษะสู่การเป็นเชฟ พร้อมสร้าง Train The Trainer ผ่านหลักสูตร THACCA OFOS ในโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" จนนำไปสู่การอบรมรุ่นแรก 1,300 คน และสร้าง Train The Trainer จำนวน 325 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพ อาทิ ประกาศนียบัตรสมรรถนะผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 4 จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 จากกรมพัฒนา ฝีมือแรงงานจำนวน 1,040 คนด้วย
เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมนี้จะสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร สร้างคุณค่า และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 1,500 ล้านบาท สอดรับกับนโยบาย "ครัวไทยสู่โลก" และในปี 2568 คาดว่าจะมีการผลักดันให้มีการฝึกอบรมตั้งเป้าไว้ประมาณ 17,000 คน แล้วทั้ง 4 ปี จะทําให้มีผู้อบรมผ่านจากทุกๆ หมู่บ้านให้ได้ครบ 75,000 คน ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร
ดร.ณัฐพล ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายเรือธงสำคัญในการมุ่งยกระดับทักษะและปลดล็อคศักยภาพของคนไทยในการสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อพัฒนาความสามารถของคนไทยให้สร้างมูลค่า เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะเดิม (Reskill) โดยเฉพาะสาขาอาหารไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังที่สุดเพราะเป็นมากกว่าอาหารโดยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาติ
สำหรับโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ได้มีการพัฒนาหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ การพัฒนาหลักสูตรอาหารไทย (ตำรับ) โดยจัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือหลักสูตรดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการโดยเชื่อมต่อกับกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างแรงงานทักษะสูง ครูผู้สอน (Train The Trainer) โดยการฝึกอบรมระยะเวลา 30 ชั่วโมง เพื่อให้ครูผู้สอนเข้าใจและนำไปต่อยอดถ่ายทอดให้กับผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) ด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพพร้อมเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป
ข่าวอื่นที่น่าสนใจ