เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวม 30 กลุ่ม ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
โดยมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ พัฒนาการจังหวัดภาคเหนือ และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ เฝ้ารับเสด็จ
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผ้าไทยให้คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับกลุ่มชุมชนและผู้ประกอบการภาคเหนือทั้ง 30 กลุ่ม ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ อาทิ กลุ่มเตาหลวงสตูดิโอ กลุ่มเชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด Ninechaidee (นายใจดี) และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง และวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโครเชต์บ้านป่ามะม่วง จังหวัดตาก Piyasila และหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษา จังหวัดเพชรบูรณ์ ญเนศไทยดีไซน์ จังหวัดแพร่ กลุ่มบ้านปั้นจันทร์ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด และปั้นงานเซรามิค จังหวัดลำปาง ทุ่งหัวช้างโมเดลจังหวัดลำพูน คุณหญิงผ้าทอน้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มแต้มตะกอ (กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ) จังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งกลุ่มศิลปาชีพ ภาคเหนือ ซึ่งน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ และใช้โทนสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊ก เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้สีที่มีความทันสมัย มีการใช้วัตถุดิบจากเส้นใยและพืชพรรณภายในชุมชน ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”
โอกาสนี้ “สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ยังได้พระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ รวมถึงผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP เฝ้าถวายการบ้านขอพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นจริงจัง จากนั้นจึงเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการพัฒนาต้นแบบผ้าทอกัญชงผสมเส้นใยธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนของมูลนิธิโครงการหลวง และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ
โอกาสนี้ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ, นักวิชาการ และนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ช่างทอผ้า ช่างเซรามิก และผู้ประกอบการ อาทิ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมเพื่อพร้อมก้าวสู่ตลาดสากล และเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้กับผู้ประกอบอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่ม Premium OTOP เพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับผู้ประกอบอาชีพในชุมชนต่อไป