ข่าวประชาสัมพันธ์

  • สคช.ผนึกกำลังกว่า 10 หน่วยงานในคณะทำงานขับเคลื่อนการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลด้านกำลังคน ผลักดันการพัฒนา E-Workforce Ecosystem Platform กระตุ้นการแนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพ Learning and Career Guidance (LCG)

    27.03.2568
    145 View

    สคช.ผนึกกำลังกว่า 10 หน่วยงานในคณะทำงานขับเคลื่อนการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลด้านกำลังคน ผลักดันการพัฒนา E-Workforce Ecosystem Platform กระตุ้นการแนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพ Learning and Career Guidance (LCG) นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลด้านกำลังคนด้วยระบบ E-Workforce Ecosystem Platform เป็นประธานการประชุมคณะทำงาน ครั้งที่ 1/2568 ณ โรงแรมอมารี แบงก์ค็อก ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบไฮบริด มีนางเมธินี เทพมณี ที่ปรึกษาคณะทำงานเข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom และนายนคร ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคณะทำงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน, สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(องค์การมหาชน), สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ในที่ประชุม ได้นำเสนอผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อน E-Workforce Ecosystem Platform ปีงบประมาณ 2568, ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและมีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) และ การบริการ E-Workforce Ecosystem Platform บนแอปพลิเคชันทางรัฐ และได้พิจารณา กรอบการพัฒนาระบบแนะแนวการเรียนรู้สู่อาชีพ (Learning and Career Guidance) ระยะต่อไปและการพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน E-Workforce Ecosystem Platform ให้สามารถรองรับการใช้งานให้สอดคล้องกับระบบการพัฒนาตนเองให้ตรงกับความต้องการของผู้คนสังคมตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยสูงอายุ ขณะเดียวกันยังมีมติให้เพิ่มเติมคณะทำงาน เพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) อีก 3 หน่วยงาน คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.), กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) และ สำนักปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมพิธีเปิดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ครั้งที่ 43

    26.03.2568
    192 View

    ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านการท่องเที่ยว ร่วมพิธีเปิดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” ครั้งที่ 43 ประจำปี 2568 ที่จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 26 – 30 มีนาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ฮอลล์ 1 – 4 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน และได้เชิญเอกอัครราชทูต ทูตานุทูต และผู้แทนสถานทูตกว่า 50 ประเทศประจำประเทศไทยร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด ภายใต้แนวคิด พลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยสู่มิติใหม่ ขับเคลื่อนแนวคิด Carbon Neutral Tourism เพื่อยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว เน้น 5 Must Do in Thailand ได้แก่ สินค้า  MUST TASTE, MUST TRY, MUST BUY, MUST SEEK และ MUST SEE ที่ชูความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากทั้ง 5 ภูมิภาค พร้อมด้วยนำ Landmark และกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อนำเสนอวัฒนธรรมไทย และส่งเสริมแนวคิด Sustainable Tourism  โดยปีนี้เป็นปีที่ 3 ของกิจกรรมลดโลกเลอะ Zero Waste to Landfills เพื่อเป้าหมายไม่ให้เกิดขยะหลงเหลือจากการจัดงาน ลดขยะสู่บ่อฝังกลบ ซึ่งจะสร้างมลพิษในภายหลัง โดยขยะทุกชนิดจะมีการนำไปทำกำจัดและใช้ประโยชน์อย่างถูกวิธี และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการภายในงาน เป็นส่วนหนึ่งในการบริหารทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

  • สคช. รุกต่อ เปิดประตูสู่อาชีพ เติมทักษะ พัฒนาคนเมืองโอ่ง เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ต่อยอดสร้างธุรกิจ

    25.03.2568
    312 View

    สคช. รุกต่อเปิดประตูสู่อาชีพ เติมทักษะ พัฒนาคนเมืองโอ่ง เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ต่อยอดสร้างธุรกิจ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดโครงการ “เปิดโลกสร้างทักษะ เสริมอาชีพ ด้วยคุณวุฒิวิชาชีพ” ณ เทศบาลตำบลเขางู อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นโครงการที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้น 3 วัน ดังนี้ วันที่ 24 มีนาคม 2568 จัดที่เทศบาลตำบลเขางู, วันที่ 25 มีนาคม 2568 จัดที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี และ วันที่ 27 มีนาคม 2568 จัดที่เทศบาลหลักเมือง มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วม 3 วัน กว่า 300 คน นางสาวจุลลดากล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดี ที่ชาวราชบุรีจะได้ฝึกอบรมที่นอกจากภาคทฤษฎีแล้ว ยังได้ลองปฏิบัติจริง มีมาตรฐาน และยังสามารถสะสมประสบการณ์ไว้ และเมื่อเกิดความชำนาญแล้วก็สามารถนำไปขอรับคุณวุฒิวิชาชีพจากสถาบัน เพื่อเป็นส่วนประกอบในการขอสินเชื่อจากธนาคาร ในการลงทุนต่อยอดอาชีพได้อีกด้วย โดยรายละเอียดการอบรม ประกอบด้วย 5 ฐานทักษะ ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพของสถาบัน ได้แก่ 1.การทำอาหารในร้านอาหาร 2.การผลิตผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 3.การเป็นบาริสต้า 4.การเกษตรตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และ 5. การเติมทักษะการตลาดออนไลน์ สอนเทคนิคการขายของออนไลน์ ตั้งแต่สร้างเพจไปจนสามารถปิดการขายได้ อย่างไรก็ดี ผู้เข้าร่วมอบรมไม่เพียงแต่ได้ความรู้ ได้ฝึกปฏิบัติจริง กับวิทยากรมากประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังได้รู้จักและทดลองใช้งานแพลตฟอร์มอัจฉริยะ EWE ของสคช. ที่มีบริการหลากหลาย ในการพัฒนาตัวเองในหลากหลายด้าน ผ่าน www.ewe.go.th หรือสามารถดาวน์โหลดแอพลิเคชั่น EWE ได้ทั้งระบบ iOS และ Android

  • สคช.หารือกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน วางแผนจัดทำ MOU ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรอาชีพ

    24.03.2568
    623 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ นางสาวพรภัทรา ฉิมพลอย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรับรององค์กรฝึกอบรม หารือร่วมกับนายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ นายนที ราชฉวาง ผอ.กลุ่มงานพัฒนาหลักสูตรและเทคโนโลยีการฝึก กองพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อวางแผนจัดทำ MOU ร่วมกัน 3 หน่วยงาน ในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรอาชีพ ด้วยมุ่งหวังขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำ และหรือพัฒนาหลักสูตรอาชีพของหน่วยงาน สถานศึกษาและศูนย์ฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ เพื่อต่อยอดสร้างความพร้อม ทางเลือกและความก้าวหน้าที่นอกเหนือจากการดำรงชีพ แต่ให้สามารถที่จะยกระดับสู่อาชีพที่ยั่งยืน หลากหลาย ตามความสนใจและความถนัด และเปิดโอกาสให้สามารถได้รับคุณวุฒิวิชาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และสามารถเข้าถึงกลไกการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติอีกด้วย นอกจากนี้ สคช.ยังเสนอให้ผู้รับบริการของสกร. ที่มีอายุอยู่ในช่วง 17-25 ปี ได้เข้าไปใช้งานแพลตฟอร์ม EWE แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้เข้ามาใช้บริการเพื่อพัฒนาตนเอง พัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์เพื่อนำผลลัพธ์จากการเรียนรู้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และสามารถมีอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป อย่างไรก็ตาม สคช.คำนึงถึงความหลากหลายและความต้องการของผู้เรียน และเปิดยังโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง

  • สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมงานทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ครบรอบ 33 ปี

    24.03.2568
    625 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบัน พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมงานทำบุญเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ครบรอบ 33 ปี ณ กระทรวงแรงงาน โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมในพิธี

  • ผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพรุ่นแรก 1,300 คน

    24.03.2568
    647 View

    ผลสำเร็จขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนา ซอฟต์พาวเวอร์ สาขาอาหาร ผ่านโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" ผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพรุ่นแรก 1,300 คน ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร เข้าร่วมในพิธีปัจฉิมนิเทศและมอบประกาศนียบัตรให้กับบุคลากรที่ผ่านการอบรมในโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย หลักสูตร THACCA OFOS รุ่นแรก 1,300 คน โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ, คณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร, ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารภาคีเครือข่ายเข้าร่วม โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมขับเคลื่อนหลักสูตรการอบรมพัฒนาและเสริมทักษะสู่การเป็นเชฟ พร้อมสร้าง Train The Trainer ผ่านหลักสูตร THACCA OFOS ในโครงการ "หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย" จนนำไปสู่การอบรมรุ่นแรก 1,300 คน และสร้าง Train The Trainer จำนวน 325 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานวิชาชีพ อาทิ ประกาศนียบัตรสมรรถนะผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 4 จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ประกาศนียบัตรมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาผู้ประกอบอาหารไทยระดับ 1 จากกรมพัฒนา ฝีมือแรงงานจำนวน 1,040 คนด้วย เบื้องต้นกระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมนี้จะสามารถต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร สร้างคุณค่า และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กว่า 1,500 ล้านบาท สอดรับกับนโยบาย "ครัวไทยสู่โลก" และในปี 2568 คาดว่าจะมีการผลักดันให้มีการฝึกอบรมตั้งเป้าไว้ประมาณ 17,000 คน แล้วทั้ง 4 ปี จะทําให้มีผู้อบรมผ่านจากทุกๆ หมู่บ้านให้ได้ครบ 75,000 คน ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของซอฟต์พาวเวอร์สาขาอาหาร ดร.ณัฐพล ระบุว่า รัฐบาลมีนโยบายเรือธงสำคัญในการมุ่งยกระดับทักษะและปลดล็อคศักยภาพของคนไทยในการสร้างงาน สร้างรายได้ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS (One Family One Soft Power) เพื่อพัฒนาความสามารถของคนไทยให้สร้างมูลค่า เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เสริมทักษะเดิม (Reskill) โดยเฉพาะสาขาอาหารไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังที่สุดเพราะเป็นมากกว่าอาหารโดยเป็นตัวแทนของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความคิดสร้างสรรค์ที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาติ สำหรับโครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย ได้มีการพัฒนาหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ การพัฒนาหลักสูตรอาหารไทย (ตำรับ) โดยจัดทำสื่อความรู้เผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือหลักสูตรดำเนินการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร และคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการโดยเชื่อมต่อกับกองทุนหมู่บ้าน รวมถึงการสร้างแรงงานทักษะสูง ครูผู้สอน (Train The Trainer) โดยการฝึกอบรมระยะเวลา 30 ชั่วโมง เพื่อให้ครูผู้สอนเข้าใจและนำไปต่อยอดถ่ายทอดให้กับผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรเชฟอาหารไทยมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะเชฟอาหารไทยมืออาชีพ (Master Thai Chef Program) ด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการประกอบอาชีพพร้อมเข้ารับการทดสอบคุณวุฒิวิชาชีพต่อไป

  • ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบและ No Gift Policy ประจำปีงบประมาณ 2568

    20.03.2568
    1,010 View

    ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบและ No Gift Policy ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ลานด้านหน้าอาคารเพิร์ลแบงก์ค็อก โดยนางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กล่าวปฏิญาณตน พร้อมให้คำมั่นที่จะนำพาสถาบันดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จตามพันธกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมความโปร่งใส รวมถึงส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกและสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่รับไม่ให้ของขวัญของกำนัลทุกชนิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนการทำงานของสถาบันเป็นไปอย่างมีคุณธรรมและธรรมาภิบาล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตอบคำถามส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และรับฟังการบรรยาย หัวข้อ “No Gift Policy & Zero Corruption” โดยวิทยากรจากสำนักงาน ป.ป.ช. จากคะแนนดัชนีการรับรู้ทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2567 จาก 180 ประเทศทั่วโลกพบว่า ไทยจัดอยู่อันดับที่ 107 ของโลก ผลคะแนนดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญที่ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนคนไทยต้องตระหนักถึงปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เนื่องจากการทุจริตถือเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านต่างๆของประเทศ โดยเฉพาะสาเหตุหลักของการคอรัปชั่นมักเกิดจากความโลภของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ

  • สคช. เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะระบบเสียง ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่งานแสดงสดในเวทีโลก

    17.03.2568
    1,127 View

    สคช. เปิดตัวโครงการพัฒนาทักษะระบบเสียง ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่งานแสดงสดในเวทีโลก นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดการฝึกอบรม “พัฒนาทักษะการควบคุมระบบเสียงเพื่อยกระดับงานแสดงสด” ณ Phenix Hall ประตูน้ำ ซึ่งจัดอบรม จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2568 โครงการเกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), บริษัท เจเอสเอส โปรดักชั่น จำกัด และ แอสเซสเวิล์ด คอเปอเรชั่น ผู้ให้บริการฟีนิกซ์ ฮอลล์ ที่มุ่งพัฒนาทักษะวิศวกรด้านระบบเสียงของไทย เพื่อลดการพึ่งพาทีมงานระบบเสียงจากต่างชาติ และเสริมศักยภาพ "ซอฟต์พาวเวอร์ไทย" ให้ก้าวไกลระดับโลก ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้เทคนิคขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญโดยมีเหล่ากูรูด้านระบบเสียงระดับแนวหน้าของไทย อาทิ คุณเจษฎา พัฒนถาบุตร (JSS Production), Mr. Daniel Choo (Crème Education) และคุณรุ่งกานต์ ตติยสุข (Dynamic Studio) เป็นต้น โดยตลอดระยะเวลา 3 วัน ของการอบรม ผู้เข้าร่วมอบรม จะได้รับการฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่การออกแบบระบบเสียง การควบคุมเสียงในงานแสดงสด ไปจนถึงการมิกซ์เสียงแบบมืออาชีพ และเมื่อผ่านการอบรม จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ อาชีพผู้ควบคุมอุปกรณ์ระบบเสียง ระดับ 3 หรือ 4 และได้เข้าใช้งานในระบบ EWE Platform เพื่อสามารถเข้าไปสะสมผลงาน ปรสบการณ์ และสามารถเข้าไปพัฒนาตนเองในทักษะด้านๆได้อีก การอบรมในวันนี้ เป็นกลุ่มผู้ประกอบอาชีพช่างเทคนิคควบคุมอุปกรณ์ระบบเสียงจากสถานประกอบการต่างๆ ประกอบด้วย VL Sound and Light, Malee Studio, เต่าแดงมิวสิค, พีคคอนเฟอร์เรนท์, MASTERPEACE, HIGHHOV, Sound Up Production, Pro Audio Light, Yodmai Home Studio, QF Live & Sound, Kmas Sound และวงโจรลอยนวล เป็นต้น

  • สคช. ปั้นมืออาชีพ นักเรียนศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารไทย

    17.03.2568
    1,122 View

    สคช. ปั้นมืออาชีพ นักเรียนศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาหารไทย นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ให้แก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาของศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น และร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา โดยมี นางนิภานันท์ ชูพจน์เจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นประธานในพิธีเปิด นางสาวนาฑีรัตน์ บุญรัตน์ ประธานบริหารสายงานทรัพยากรบุคคล หน่วยธุรกิจพีเพิลคอนเน็ค และผู้อำนวยการศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่น กล่าวแสดงความยินดี พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตลอดจนคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติร่วมแสดงความยินดี นางสาวจุลลดา กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพกำลังคน ด้วยการเรียนรู้ การฝึกฝน เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ การได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และความพร้อมด้านอาชีพของผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ความสำเร็จของนักเรียนทุกคนในวันนี้ ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของตัวเอง แต่ยังสะท้อนถึงมาตรฐานวิชาชีพที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้ใช้บริการ สคช. ขอขอบคุณบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และร่วมมือกับสถาบันในการส่งเสริมมาตรฐานอาชีพ ซึ่งเป็นต้นแบบสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ พิธีมอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพแก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาของศูนย์การเรียนฟู้ดแพชชั่นครั้งนี้ นอกจากจะได้รับวุฒิทางการศึกษาแล้ว ผู้สำเร็จการศึกษายังได้รับประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ในสาขาวิชาชีพการท่องเที่ยว การโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร สาขาธุรกิจอาหาร อาชีพพนักงานร้าน ระดับ 3 รวมจำนวน 99 คน ซึ่งเป็นอีกก้าวสำคัญในการเสริมสร้างคุณภาพกำลังคนให้พร้อมรับความท้าทายของตลาดแรงงานยุคใหม่ สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปพัฒนาอาชีพของตนเอง และยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารและบริการต่อไป

  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวม 30 กลุ่ม ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

    14.03.2568
    1,310 View

    เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี รวม 30 กลุ่ม ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ พัฒนาการจังหวัดภาคเหนือ และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ เฝ้ารับเสด็จ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของแต่ละจังหวัด และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลงานอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาไทยของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผ้าไทยให้คนในชุมชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับกลุ่มชุมชนและผู้ประกอบการภาคเหนือทั้ง 30 กลุ่ม ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ อาทิ กลุ่มเตาหลวงสตูดิโอ กลุ่มเชียงใหม่ศิลาดล ดอยสะเก็ด Ninechaidee (นายใจดี) และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเครื่องเคลือบดินเผาเวียงกาหลง วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง และวิสาหกิจชุมชนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย A&R จังหวัดเชียงราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มโครเชต์บ้านป่ามะม่วง จังหวัดตาก Piyasila และหัตถกรรมทอผ้าขิดวัดโฆษา จังหวัดเพชรบูรณ์ ญเนศไทยดีไซน์ จังหวัดแพร่ กลุ่มบ้านปั้นจันทร์ บริษัท ธนบดีเดคอร์เซรามิค จำกัด และปั้นงานเซรามิค จังหวัดลำปาง ทุ่งหัวช้างโมเดลจังหวัดลำพูน คุณหญิงผ้าทอน้ำอ่าง จังหวัดอุตรดิตถ์ กลุ่มแต้มตะกอ (กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายโบราณบ้านโคกหม้อ) จังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งกลุ่มศิลปาชีพ ภาคเหนือ ซึ่งน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยย้อมผ้าด้วยสีจากธรรมชาติ และใช้โทนสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊ก เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้สีที่มีความทันสมัย มีการใช้วัตถุดิบจากเส้นใยและพืชพรรณภายในชุมชน ตามแนวพระดำริ “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” โอกาสนี้ “สมเด็จเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ยังได้พระราชทานพระวโรกาสให้สมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ รวมถึงผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP เฝ้าถวายการบ้านขอพระราชทานคำแนะนำในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นจริงจัง จากนั้นจึงเสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการพัฒนาต้นแบบผ้าทอกัญชงผสมเส้นใยธรรมชาติ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนของมูลนิธิโครงการหลวง และมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ภาคเหนือ โอกาสนี้ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมคณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก, ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย, ผู้เชี่ยวชาญการย้อมสีธรรมชาติ, นักวิชาการ และนักออกแบบชั้นนำของประเทศ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ช่างทอผ้า ช่างเซรามิก และผู้ประกอบการ อาทิ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย, การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมเพื่อพร้อมก้าวสู่ตลาดสากล และเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพให้กับผู้ประกอบอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่ม Premium OTOP เพื่อให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ยกระดับผู้ประกอบอาชีพในชุมชนต่อไป

  • สคช.ร่วมงาน Exclusive Dinner Talk & Networking ภายใต้หัวข้อ Shaping Soft Power through Cuisine toward Global influence

    14.03.2568
    1,293 View

    ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ร่วมงาน Exclusive Dinner Talk & Networking ภายใต้หัวข้อ Shaping Soft Power through Cuisine toward Global influence ณ โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันอาหาร โดยมีนายณัฐพล รังสิตผล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวเปิดงาน และมีผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารเข้าร่วม การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมาย เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ เกี่ยวกับบทบาทของอาหารไทย ในฐานะซอฟพาวเวอร์ ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการในระดับโลก และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาซอฟพาวเวอร์ ด้านอาหารให้เข้มแข็งและยั่งยืน ภายในงานมีผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ CPF, Blue elephant, เชฟเนตร จากรายการเชฟกะทะเหล็ก และ ผู้บริหารจาก Lineman Wongnai เข้าร่วมพูดคุยเสวนาด้วย

  • ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกิจกรรมวันช้างไทย 2568 “นวัตกรรมชุมชน สู่ปัญหาคนกับช้าง”

    13.03.2568
    1,615 View

    ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมกิจกรรมวันช้างไทย 2568 “นวัตกรรมชุมชน สู่ปัญหาคนกับช้าง” ที่มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยร่วมกับภาคคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อช้าง จัดขึ้น ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยมีนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ ประธานมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย, นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และรศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร เลขาธิการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ร่วมในพิธีเปิดกิจกรรม บรรยากาศในงานได้มีเหล่าควาญช้างที่อยู่ตามปางต่างๆ ในพื้นที่ จ.สุรินทร์, จ.กระบี่ และจังหวัดตาก ได้นำช้างออกมาแสดงปฏิญญาจรรยาบรรณร่วมกัน โดยแต่ละแห่งได้มีการถ่ายทอดสดมายังสถานที่จัดงาน โดยร่วมใจกันกล่าวปฏิญาณ ความว่า “รักษ์เกียรติของควาญ อภิบาลช้างด้วยเมตตา สัมมาสุจริตรับผิดชอบ ไมตรีมอบมวลมิตรจิตอารี” เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะอยู่อาศัยและเอื้ออาทรต่อช้างซึ่งถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย และตลอดทั้งวันยังมีการบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับช้างไทย ดร.ณฐา กล่าวว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานอาชีพและให้การรับรองอาชีพควาญช้าง เพื่อให้อนาคตของช้างไทยอยู่ในการดูแลโดยบุคลากรมืออาชีพ และยังร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับควาญช้าง เพื่อให้ช้างไทย ซึ่งเป็นเสน่ห์การท่องเที่ยวของไทย ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ดังนั้น ผู้ที่จะดูแลช้างให้มีสุขภาวะที่ถูกต้องตามหลักการดูแลและและอนุรักษ์ช้างต้องมีความรู้ ความสามารถที่ถูกต้อง เพราะควาญช้างไม่ใช่แค่อาชีพ แต่ต้องอาศัยศิลปะในการอยู่ร่วมกับช้าง ที่แม้แต่สัตวแพทย์ ก็ยังต้องมีความรู้และทักษะในการดูแลช้างเช่นกัน

  • สคช. หารือรองปลัด กทม. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน

    12.03.2568
    1,363 View

    สคช. หารือรองปลัด กทม. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการ นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผอ.สำนักส่งเสริมสถานประกอบการและการอบรมด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และนางสาวมะลิ จันทร์สุนทร ผอ.สำนักรับรององค์กรรับรองและประเมินสมรรถนะของบุคคล เข้าพบนายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัด กทม. พร้อม ผู้อำนวยการส่วนการฝึกอาชีพ และผู้แทนโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง เพื่อหารือการดำเนินการร่วมกันเพื่อต่อยอดการดำเนินงานที่เคยทำร่วมกันมาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น การฝึกอาชีพหลักสูตรพนักงานแม่บ้านโรงแรมระดับต้น การประเมินให้คุณวุฒิวิชาชีพแก่ผู้ประกอบอาหารริมบาทวิถี (Street Food) และการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ EWE Platform ร่วมกับ กทม. และได้หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกันในระยะต่อไป ได้แก่ 1. การเทียบหลักสูตรฝึกอาชีพกับมาตรฐานอาชีพ จำนวน 12 หลักสูตร อาทิ หลักสูตรเพื่อนผู้สูงวัย หลักสูตรช่างเทคนิคติดตั้งและบำรุงเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หลักสูตรช่างเทคนิคซ่อมบำรุงรักษายานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น 2. ร่วมพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฝึกอาชีพ ให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานแพลตฟอร์ม EWE และการใช้ประโยชน์จากระบบ EWE ในการเก็บสะสมหน่วยสมรรถนะสำหรับผู้ฝึกอาชีพที่มีความตั้งใจในการอบรมแต่อาจไม่สามารถอบรมได้จนจบหลักสูตร เพื่อจะสามารถนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงการต่อยอดด้านอื่น ๆ เช่น การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เป็นต้น 3. การนำมาตรฐานอาชีพอื่น ๆ ของ สคช. ไปใช้ในการปรับหลักสูตรการฝึกอาชีพอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ดูแลเด็ก และผู้ดูแลผู้สูงอายุ 4. พิจารณามาตรฐานอาชีพอื่น ๆ ของ สคช. เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรในสังกัด กทม. เช่น รุกขกร ผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ผู้ดูแลสวน พนักงานเก็บขยะ พนักงานแยกขยะ พนักงานกู้ภัย เป็นต้น ทั้งนี้ กทม. และ สคช. จะได้มีการหารือร่วมกันในรายละเอียด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันต่อไป

  • สคช.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บูรณาการเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน

    10.03.2568
    1,310 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เรื่อง การบูรณาการเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน สำหรับอาคารและโรงงานควบคุม และหลักสูตรผู้ตรวจสอบ และรับรองการจัดการพลังงาน ด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน ความร่วมมือดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลการฝึกอบรมบุคลากรตามกฎหมาย และการรับรองบุคลากรด้านพลังงานด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ในสาขาวิชาชีพที่มีการตกลงร่วมกัน และผลักดันให้ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับผิดชอบด้านพลังงานสำหรับอาคารและโรงงานควบคุม และผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน รวมถึงผู้ผ่านการฝึกอบรมบุคลากรตามกฎหมาย หลักสูตรผู้รับผิดชอบด้านพลังงานสำหรับอาคารและโรงงานควบคุม หลักสูตรผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน รวมถึงหลักสูตรอื่น ๆ ที่ให้ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ และเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ยังจะเป็นแรงกระตุ้นเพื่อสร้างการรับรู้และการยอมรับในระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ปัจจุบันมีผู้ที่ผ่านการอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแล้วกว่า 8,000 คน และได้มีการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบด้านพลังงานผู้รับผิดชอบแล้วกว่า 170,000 คน โอกาสนี้ คณะผู้บริหารสคช. ยังได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์แสดงเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน (Display Center) ซึ่งอยู่ภายในอาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ มีการจัดแสดงเทคโนโลยีพลังงานภาคบ้านที่อยู่อาศัย, ภาคอาคารธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางสำหรับนำไปปรับใช้ในการบริหารจัดการพลังงานทั้งในองค์กรและการใช้ชีวิตประจำวัน

  • สคช.มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

    07.03.2568
    1,269 View

    นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จำนวน 24 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะในสาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมและงานพื้นบ้าน สาขางานศิลป์แผ่นดิน อาชีพช่างรัก, ช่างเขียน, ช่างปั้น, ช่างหัวโขน และช่างพัสตราภรณ์ แบบศิลปะไทย ระดับ 4 และ ระดับ 5 โดยมี ดร.วีรยา จันทรดี ผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่, ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และคณะผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานร่วมแสดงความยินดี ทั้งนี้ การพัฒนาบุคลากรด้านงานช่างฝีมือศิลปะแบบไทยเป็นงานเอกลักษณ์เฉพาะที่มีความสำคัญ เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการถ่ายทอดส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง เพื่อไม่ให้องค์ความรู้นั้นสูญหาย การให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพใน 5 อาชีพ ได้แก่ ช่างเขียน ช่างปั้น ช่างรัก ช่างหัวโขน ช่างพัสตราภรณ์ นั้นเป็นการนำร่องที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่ผ่านการประเมินมีทักษะความรู้ความสามารถในงานช่างอย่างชัดเจน อาทิ ช่างเขียนที่สะท้อนทักษะของผู้วาดลวดลาย ออกแบบลวดลาย เขียนสีด้วยพู่กัน, ช่างปั้นที่สามารถตกแต่งงานสถาปัตยกรรม ซ่อมแซมบูรณะอาคาร ศาสนสถานที่มีการใช้ปูนปั้นเป็นส่วนประกอบทั้งปั้นปูนสด และปูนสำเร็จรูป, ช่างรักเป็นช่างที่มีความรู้ด้านการนำยางรักมาใช้เป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์งานศิลปะไทยในงานลายรดน้ำ งานประดับมุก งานประดับกระจก เครื่องเขิน รวมถึงการปิดทอง เป็นต้น, ช่างหัวโขนเป็นผู้สะท้อนทักษะงานหัตถศิลป์ระดับสูงที่ผู้ที่จะสามารถ ทำหัวโขนได้นั้นจะต้องมีความเข้าใจในขนบ และมีความเข้าใจในกระบวนการสร้างสรร และช่างพัสตราภรณ์ต้องมีทักษะด้านการตัดเย็บและการปักด้วยวัสดุต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความงาม และยังคงขนบของลวดลายบางประการไว้ อย่างไรก็ดี สคช.และสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะยังคงทำความร่วมมือในการรวบรวมองค์ความรู้เพื่อนำมาถ่ายทอดผ่านหลักสูตรและจัดการฝึกอบรมแก่ผู้ที่สนใจในงานช่างศิลปะไทยเพื่ออนุรักษ์ให้คงอยู่อย่างยืนต่อไปในอนาคต

  • รถยนต์ใช้แล้ว ย้อมแมวหรือไม่ ... การันตีมืออาชีพผู้ประเมินราคารถยนต์ใช้แล้วครั้งแรก โดย สคช. x บ.แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จก.

    06.03.2568
    1,328 View

    รถยนต์ใช้แล้ว ย้อมแมวหรือไม่ ... การันตีมืออาชีพผู้ประเมินราคารถยนต์ใช้แล้วครั้งแรก โดย สคช. x บ.แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จก. นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มอบประกาศนียบัตรแก่พนักงานของบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แอพเพิล ออโต้ เซอร์วิส จำกัด ที่ผ่านการพัฒนาและประเมินสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพบริการยานยนต์ สาขางานขายและบริการ อาชีพพนักงานประเมินราคารถยนต์ใช้แล้ว คุณวุฒิวิชาชีพระดับ 3 รวม 22 คน โดยมี นายอนุชาติ ดีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์), นายแสงสูรย์ แสงประสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ, นางสาวณิชาภา มุสิโก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายสนับสนุน, นายนิธิวัชร์ ศิริปริยพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ นายพิริยะพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสถานประกอบการและการอบรมด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ร่วมเป็นสักขีพยาน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในสายงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่จำเป็นในการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์ โดยเฉพาะในกระบวนการประเมินราคารถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจการประมูลและจำหน่ายรถยนต์ โดย ที่ผ่านมา สคช.ทำงานร่วมกับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อให้ผลักดันให้เกิดการสร้างคุณค่าของมาตรฐานอาชีพในการนำไปใช้ในการพัฒนากำลังคนผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพในสถานประกอบการ โดยพนักงานจะมีโอกาสได้ฝึกอบรมครอบคลุมทุกด้านของการตรวจสอบและประเมินสภาพรถยนต์ ตั้งแต่ตัวถัง สี ระบบไฟฟ้า ห้องเครื่อง ระบบขับเคลื่อน และอุปกรณ์ภายใน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล และที่สำคัญสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำและเป็นมืออาชีพ